บทความวิชาการ

‘อาเซียน’ ปักหมุด Motorsports กระตุ้นเศรษฐกิจ

เกี่ยวกับเอกสาร

Motorsports หรือกีฬาแข่งขันท้าทายความเร็วโดยใช้ยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องยนต์ มีการแข่งขันที่ได้รับความนิยมทั่วโลก เช่น Formula 1, Nascar, Moto GP, Indycar โดยการแข่งขัน Motorsports มักจัดเป็นการแข่งขันหลายสนามในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ Motorsports มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของโลก

Fédération Internationale de l’Automobile (FIA) ประเมินว่าการแข่งขันเฉพาะรถตั้งแต่สี่ล้อขึ้นไป ในปี 62 มีมูลค่าการผลิต (Gross Output) ทั้งทางตรงทางอ้อม 159.2 พันล้านยูโร สร้างมูลค่าเพิ่มรวม 66.9 พันล้านยูโร สร้างอาชีพที่มีรายได้กว่า 1.5 ล้านอาชีพ

การแข่งขันในสนาม Indianapolis Motor Speedway รัฐอินเดียนา สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 65 – 31 พ.ค. 66 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1.058 พันล้านดอลลาร์ สนับสนุนงานมากถึง 8,440 ตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แรงงานราว 360 ล้านดอลลาร์

F1 Las Vegas Grand Prix 2023 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเกือบ 1.5 พันล้านดอลลาร์ สนับสนุนงานราว 2,200 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ให้แรงงานราว 52 ล้านดอลลาร์ โดยการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวในการแข่งขันสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 3.6 เท่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้จากภาษีท้องถิ่นได้ 77 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ F1 Australian Grand Prix 2023 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 268 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าใช้จ่ายโดยตรง 144 ล้านดอลลาร์ และสนับสนุนงาน 1,149 ตำแหน่ง

ปี 66 จากการแข่งขัน Moto GP สนามประเทศไทย มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 11% สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกือบ 4.5 พันล้านบาท ในเดือนตุลาคมปีนี้ การแข่งขัน Moto GP สนามที่ 18 จะจัดขึ้นที่ไทย คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและเงินหมุนเวียนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันเป็นอย่างมาก

ช่วงระยะหลัง Motorsports ขยายฐานแฟนกีฬาผ่านสื่อบันเทิง นำเสนอการแข่งขันและเบื้องหลัง ทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักและเข้าถึงการแข่งขัน Motorsports ได้มากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในสนามต่าง ๆ มีผู้เข้าชมและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

แม้ว่า Motorsport สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้จัด แต่ในอีกด้านการดึงรายการแข่งขัน Motorsports รายการใหญ่ระดับโลกมาจัดการแข่งขันในประเทศก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณา

ค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันของรายการแข่งขัน Motorsports รายการใหญ่มีราคาสูง ค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันของไทยรายการ Moto GP ระยะเวลา 5 ปี อยู่ที่ราว 1.8 พันล้านบาท หรือค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันรายการ F1 ก็มีมูลค่าแตกต่างกันไปในแต่ละสนาม เช่น โมนาโกที่เป็นสนามเอกของ F1 มีค่าลิขสิทธิ์ต่ำสุดที่ราว 20 ล้านดอลลาร์ และค่าลิขสิทธิ์สูงสุดคืออาเซอร์ไบจานที่ 57 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การจัดของสิงคโปร์เสียค่าลิขสิทธิ์ราว 35 ล้านดอลลาร์

การจัดการแข่งขันยังต้องมีสนามแข่งที่พร้อม น่าดึงดูดใจ และได้มาตรฐาน หรือหากใช้ถนนในเมืองเป็นสนามแข่งเพื่อโปรโมททัศนียภาพของเมืองไปด้วยในตัว ก็ต้องมีการลงทุนพัฒนาสภาพถนน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการแข่งขันเพื่อรองรับด้วยงบประมาณมหาศาล

การแข่งขัน Motorsports ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิง พลังงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสมเช่น F1 Singapore Grand Prix ที่ตั้งเป้าจัดการแข่งขันอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงาน ใช้พลังงานทดแทนเพื่อจัดการแข่งขัน

ในภูมิภาคอาเซียนมีการจัดการแข่งขัน Motorsports รายการใหญ่ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย การจัดการแข่งขันยังเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ Mega Event ที่เกี่ยวพันกับกฎหมายกฎระเบียบหลายด้านโดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออกชั่วคราว ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและอาจเป็นอุปสรรคในการจัดงานได้

การปักหมุดจัดการแข่งขัน Motorsports รายการใหญ่ของโลกในประเทศสมาชิกอาเซียนย่อมมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ สร้างงาน กระตุ้นการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและของภูมิภาคอย่างมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการลงทุนอย่างมหาศาลและการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรอบคอบ ไทยเองที่ต้องการเป็นสนามจัดการแข่งขัน F1 ก็จำเป็นต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักความพร้อมอย่างรอบด้านเช่นกัน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12681 วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top