บทความวิชาการ

การลดก๊าซเรือนกระจกใน ‘ระบบอาหาร’ เวียดนาม

เกี่ยวกับเอกสาร

           ระบบอาหาร (Food Systems) เป็นเครือข่ายกิจกรรมและกระบวนการที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิต แปรรูป จัดจำหน่าย จนถึงการบริโภค และยังครอบคลุมถึงมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อการผลิตและการบริโภคอาหาร อีกด้วย เช่น การใช้ที่ดิน แนวปฏิบัติเกี่ยวกับแรงงาน นโยบายด้านอาหาร 

            ปัจจุบันระบบอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จำนวนมาก คิดเป็นประมาณกว่า 31.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมในภาคเกษตร รองลงมาคือ การใช้ที่ดิน และการใช้พลังงานในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งนี้คาดการณ์ว่าแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหารจึงมีความสำคัญต่อการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญ

            Center for International Forestry Research and World Agroforestry (CIFOR-ICRAF) ได้ศึกษาระบบอาหารเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเลือกเวียดนามเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพ การมีแนวชายฝั่งตั้งอยู่ในแนวไต้ฝุ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่แม่น้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างแพร่หลาย จึงมีความเสี่ยงสูงในการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ

            จากการศึกษาพบว่าในเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 สถิติชี้ให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร แม้ว่าในสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารจะลดลง แต่การปล่อยก๊าซจากระบบอาหารยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ

ระบบอาหารประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การผลิตภายในฟาร์ม และกิจกรรมก่อนและหลังการผลิต โดยแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 5 อันดับแรกซึ่งเกิดภายใต้กิจกรรมข้างต้นในปี 2020 คือ การเพาะปลูกข้าว (34%) การจัดการปศุสัตว์ (23%) ปุ๋ยสังเคราะห์ (10%) การจัดการของเสียในระบบอาหาร (8%) และการบริโภคอาหารในครัวเรือน (8%)

            กิจกรรมเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 83% ดังนั้นจึงมีการเสนอแนะว่าเวียดนามควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมเหล่านี้ในการดำเนินนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหาร อย่างไรก็ตามไม่ควรพิจารณาแค่ขนาดการปล่อยก๊าซ แต่ควรคำนึงถึงต้นทุนและความเป็นไปได้ในการดำเนินการด้วย เนื่องจากบางกิจกรรมแม้จะไม่ใช่แหล่งปล่อยก๊าซขนาดใหญ่ แต่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ รวมเข้าถึงได้ง่ายในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ในด้านนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ ควรมีสิ่งจูงใจทางการเงิน การศึกษาและเสริมสร้างศักยภาพ นวัตกรรมทางเทคนิค และการจัดการองค์กร และกลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบอาหารของเวียดนามจะมีประสิทธิภาพการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

สำหรับไทย สถานการณ์มีความคล้ายคลึงกับเวียดนาม เนื่องจากมีการผลิตและการบริโภคอาหารขนาดใหญ่ การจัดการระบบอาหารอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างมากเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้กำหนดนโยบายอาจพิจารณาแนวทางดังกล่าวเป็นตัวอย่างในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบอาหารจะสามารถผลิตอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12676 วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top