บทความวิชาการ
view 749 facebook twitter mail

การกำกับดูแล AI ของอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

การจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของรัฐบาลทั่วโลกโดย Oxford Insights ในปี 2566 สำหรับประเทศในอาเซียนพบว่า สิงคโปร์มีความพร้อมมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาคือมาเลเซียอันดับที่ 23 ส่วนไทยอันดับที่ 37 อินโดนีเซียอันดับที่ 42 เวียดนามอันดับที่ 59 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 65 บรูไนดารุสซาลามอันดับที่ 74 สปป.ลาวอันดับที่ 136 กัมพูชาอันดับที่ 145 และเมียนมาอันดับที่ 149 ของโลก
การจัดอันดับนี้ประเมินจาก 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติภาครัฐ ในการกำกับดูแลนโยบายและจริยธรรมการใช้ AI และบทบาทภาครัฐในการสนับสนุนการปรับตัวด้านดิจิทัล มิติภาคเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จาก AI เป็นเครื่องมือในการบริหารงานของรัฐบาล รวมถึงการสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาของภาคเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มิติข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องมีความพร้อมรองรับฐานข้อมูลคุณภาพสูงในปริมาณมากเพื่อเป็นเครื่องมือสู่การนำไปใช้ประโยชน์ของพลเมือง
ผลการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อมด้าน AI ในระดับที่ต่างกันมาก โดยฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รายงานว่ามูลค่าการลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ด้าน AI ในสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซียมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 371 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นมูลค่าการลงทุนด้าน AI ของอาเซียนยังคงกระจุกตัวอยู่ที่สิงคโปร์
ระดับความพร้อมด้าน AI ที่ต่างกันกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้ช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอาเซียนห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสามารถนำ AI มาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการภายในประเทศซึ่งเข้าถึงการให้บริการประชาชน ลดต้นทุน ย่นระยะเวลา และประชาชนเข้าถึงการให้บริการของรัฐได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมด้าน AI ที่โดดเด่นระดับโลกอย่างสิงคโปร์ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการกำกับดูแลการใช้ AI ให้เป็นไปอย่างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรม กับจริยธรรมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่อาเซียนมีขีดความสามารถด้าน AI ในระดับที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลให้การใช้นวัตกรรม AI เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้การใช้ AI ก่อให้เกิดผลในทางลบซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม
อาเซียนได้จัดทำคู่มือการกำกับดูแลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ASEAN Guide on AI Governance on Ethics เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ AI ให้สอดคล้องกันทั้งภูมิภาค โดยกำหนดกรอบการทำงานที่ประกอบด้วย ความโปร่งใสและการอธิบายได้ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ความมั่นคงและความปลอดภัย ความทนทานและความน่าเชื่อถือ การยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ความเป็นส่วนตัวและการกำกับดูแลข้อมูล ความรับผิดชอบและความซื่อตรง
อาเซียนได้มีข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแล AI ภายในแต่ละประเทศ ว่าควรยกระดับทักษะด้าน AI ของแรงงานในประเทศ การสนับสนุนการใช้เครื่องมือ AI ให้กับสตาร์ทอัพ การดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี การให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของ AI ให้กับประชาชน เป็นต้น
นอกจากนั้นอาเซียนได้มีข้อเสนอแนะในระดับภูมิภาค ว่าอาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือส่วนภูมิภาคควรมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการกำกับดูแลการใช้ AI ของอาเซียนที่ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิก เพื่อผลักดันให้มีการนำคู่มือด้านการกำกับดูแล AI ไปปฏิบัติจริง และรวบรวมข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแล AI ในอาเซียนอย่างสร้างสรรค์

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12651 วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 749 facebook twitter mail
Top