บทความวิชาการ
view 725 facebook twitter mail

การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของธุรกิจ MSMEs

เกี่ยวกับเอกสาร

วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ธุรกิจ MSMEs ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 90% จึงทำให้ MSMEs เป็นแหล่งการจ้างงานและกระจายรายได้ และด้วยขนาดธุรกิจทำให้ความคล่องตัวจึงทำให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ ได้ง่าย รวมทั้งยังเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ประกอบการของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

MSMEs ในอาเซียน ADB Asia SME Monitor ปี 2023 มีการรวบรวมและติดตาม พบว่า มีจำนวน MSMEs กว่า 72 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 155 ล้านราย (ข้อมูลปีล่าสุดของแต่ละประเทศที่มีการรายงานและการจ้างงานไม่มีข้อมูลเมียนมา)การกระจายตัวของที่ตั้ง MSMEs ในอาเซียนส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในภาพรวม MSMEs อยู่ในภาคการค้าส่งและการค้าปลีก รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคการผลิต

เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หลายประเทศจึงให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ MSMEs สามารถเติบโตได้ แต่ปัจจุบัน MSMEs ยังเผชิญกับข้อจำกัดและยังเสียเปรียบธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จากข้อมูล World Bank Enterprise Surveys พบว่า การค้าส่วนใหญ่ของ SMEs (ไม่รวมธุรกิจขนาดย่อม (Micro) ยังคงพึ่งพาตลาดในประเทศมากกว่าตลาดต่างประเทศ SMEs ทั่วโลกมีการส่งออกเพียง 11% และข้อจำกัดในการส่งออกยิ่งมากขึ้นถ้าเป็น SMEs ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

โดยในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมีทั้งปัจจัยภายในของธุรกิจเอง และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs จากโครงการประเมินศักยภาพและการส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา พบว่า อุปสรรคที่ผู้ประกอบการ MSMEs ไทยต้องเผชิญ เช่น

การเข้าถึงสินเชื่อ MSMEs สะท้อนว่า ธุรกิจไม่ได้รับการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่เหมาะสม รูปแบบการให้สินเชื่อไม่สัมพันธ์กับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจไม่มีทุนเพียงพอในการพัฒนาและขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศ

กฎระเบียบและมาตรการ ซึ่งมีทั้งที่ถูกกำหนดจากในและต่างประเทศที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมีความเกี่ยวข้องในหลายหน่วยงาน มีความยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลานานในการดำเนินการ

ต้นทุนที่ MSMEs ต้องเผชิญในการส่งออก โดยต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในช่วงเริ่มต้นที่มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงทั้งในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับตลาดปลายทาง การปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรการต่าง ๆ  ซึ่งในช่วงเริ่มต้นอาจผลิตจำนวนน้อยเพื่อทดสอบตลาดทำให้เกิดการผลิตที่ไม่คุ้มทุนทั้งในการส่งออกไปขายยังมีต้นทุนค่าคลังสินค้า ค่าขนส่งสินค้า ค่ารับฝากสินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงข้อมูลของตลาดยังคงมีข้อจำกัด

อุปสรรคข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการ MSMEs ไทยต้องเผชิญในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นโยบายของภาครัฐในสนับสนุน MSMEs ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของธุรกิจ

โดยจะมีการนำเสนอและแถลงผลการศึกษาในโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ในงาน ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export ในวันที่ 4 เมษายน 2567 สามารถติดตามรายละเอียดได้ใน www.itd.or.th

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12606 วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top