เกี่ยวกับเอกสาร
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของเมียนมาที่กินเวลายืดเยื้อมากว่า 3 ปี และยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติได้ในระยะเวลาอันใกล้ ก่อให้เกิดภาวะชะงักงันด้านเศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดภาวะสมองไหลหรือการไหลออกของคนวัยแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2021
เค้าลางของภาวะสมองไหลเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกหลังการรัฐประหารที่ชาวเมียนมาในวัยหนุ่มสาวทำการอารยะขัดขืน ด้วยการประท้วงเงียบผ่านการไม่ไปทำงาน ไม่ไปเรียน เดินทางออกนอกประเทศ หรือแม้แต่หนีไปเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายต่อต้าน นอกจากนี้แรงงานทักษะสูงเชื้อสายเมียนมาในต่างประเทศที่ตัดสินใจกลับเมียนมา อันเป็นผลจากการปฏิรูปทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เริ่มเดินทางออกนอกประเทศเนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองของเมียนมาเอง
ภาวะสมองไหลดูจะเข้มข้นมากขึ้นภายหลังที่รัฐบาลเมียนมาประกาศบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มเกณฑ์ทหารในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ทันทีที่ข่าวการบังคับเกณฑ์ทหารแพร่กระจายออกไป หน้าสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ก็เต็มไปด้วยคิวการขอต่อวีซ่ายาวเหยียด ทั้งยังมีข่าวชาวเมียนมาถูกจับกุมตามแนวชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาต้องการหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหาร
ภาวะสมองไหลเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาที่มีความเปราะบางอยู่แล้วให้เปราะบางลงไปอีก การสูญเสียทุนมนุษย์ในลักษณะนี้ส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้น เมียนมาต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง เช่น หมอ พยาบาล ครู และวิศวกร ซึ่งการผลิตแรงงานในวิชาชีพเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาและทุนจำนวนมาก ซึ่งในบริบทของเมียนมาที่อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองนั้นการผลิตแรงงานมาทดแทนกลุ่มคนที่ออกนอกประเทศไปย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก
นอกจากนี้ในระยะยาวแล้วรายได้ของรัฐในรูปแบบภาษีก็จะลดลง เนื่องจากภาวะสมองไหลของเมียนมานั้นเกิดจากภาวะสงคราม ซึ่งมีความแตกต่างจากหลายประเทศ กล่าวคือบางประเทศยังสามารถพึ่งพารายได้จากเงินส่งกลับของแรงงานอพยพได้ อย่างในกรณีของฟิลิปปินส์ แต่ในกรณีของเมียนมานั้นแรงงานไหลออกเนื่องจากภาวะสงครามและต้องการต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้แนวโน้มในการส่งเงินกลับประเทศ โดยเฉพาะผ่านช่องทางธนาคารที่รัฐสามารถควบคุมได้ย่อมลดน้อยลง
อีกทั้งยังทำให้โอกาสในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาในอนาคตจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ยิ่งเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง ภาวะเช่นนี้ ชวนให้นึกถึงการลี้ภัยครั้งใหญ่ภายหลังเวียงจันทน์ พนมเปญ และโฮจิมินห์ซิตีแตกช่วงปี 1975 ส่งผลให้คลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลั่งไหลออกนอกประเทศเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นแรงงานทักษะสูง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายของเมียนมาเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย โดยในปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งภายในเมียนมาแล้วกว่า 1.35 ล้านคน ซึ่งกว่า 9 หมื่นคนอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่ใกล้ที่สุดแห่งหนึ่งจึงต้องเตรียมรับมือกับการไหลเข้ามาของผู้อพยพ นอกเหนือจากการจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมตามชายแดนแล้ว รัฐบาลไทยควรมีมาตรการรองรับการอพยพเข้ามาของแรงงานทักษะสูงที่จะเข้ามาผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย
ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12596 วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”